เทคนิคการคอนดิชั่นปลาคาร์ฟ เพื่องานประกวด



สำหรับนักเลี้ยงปลาคาร์ฟที่เสพติดการประกวด ชื่นชอบบรรยากาศของงานแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นนักเลี้ยง พ่อค้าปลา หรือมือเก่ามือใหม่คนใดก็ตาม ที่ส่งหรือเคยส่งปลาประกวดมาก่อน แน่นอนว่าจะต้องมีการเตรียมความพร้อมของปลาท่านให้มีความพร้อม เตะตา ตรึงใจ กรรมการได้มากที่สุด

จึงจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการตระเตรียมขั้นตอนต่างๆเอาไว้ก่อน ภาษาคนเลี้ยงปลาเรียกว่า การคอนดิชั่นปลา นั่นเอง

แน่นอนสูตรสำเร็จการคอนดิชั่นปลาของแต่ละสำนักก็จะต่างกันออกไป บางท่านก็เปิดเผย บางท่านก็ไม่เปิดเผย บางท่านก็เปิดเผยไม่หมด ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการลองผิดลองถูกของแต่ละท่าน แต่ละเงื่อนไข เพราะสภาพแวดล้อมแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทั้งบ่อยาง บ่อปูน บ่อดิน ไหนจะขนาดและชนิดของปลาอีก ... แค่คิดก็ปวดหัว

เอาง่ายๆว่า การมองปลาใหญ่ กับ ปลาเล็กสำหรับงานประกวดเองก็ไม่เหมือนกัน ปลาเล็กกรรมการอาจจะมองที่คุณภาพผิวและลวดลายเป็นหลัก ส่วนปลาใหม่อาจจะไปเน้นกันที่การทำหุ่นอะไรทำนองนั้น

ซึ่งการทำหุ่น แน่นอนว่าคงต้องใช้วิธีการอัดอาหารโปรตีนสูง เสริมด้วยวิตามิน จะอาหารปั้น อาหารจม อันนี้แล้วแต่กำลังทรัพย์ล้วนๆ ซึ่งการให้อาหารเยอะ จะสะท้อนกลับมาถึงคุณภาพน้ำจะต้องดีด้วย ล้นน้ำเยอะมั้ย? ล้างกรองบ่อยมั้ย? พวกนี้ค่าใช้จ่าย กับ ความเอาใจใส่กันล้วนๆ

ลวดลายในตัวปลา
หากพูดถึงความคมชัด ของคิว่า ซาชิแล้ว ควรมีมาตั้งแต่แรก หรือหากจะเก็บรายละเอียดตกแต่ง ก็ควรทำอย่างน้อยๆก่อนงานประกวดเริ่มซัก 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย ขึ้นอยู่กับทำมากหรือน้อย ไม่ใช่ว่าใกล้ๆงานมาเก็บ พวกนี้กรรมการมองแว้บเดียวก็เห็นแล้ว อาจจะไม่ถึงขั้น Disqualify หรอก แต่โดนตัดคะแนนแน่ๆครับ

ปลาตัวเดียวกันเมื่อมีการปรับแต่งเพิ่มความสวยงามมากยิ่งขึ้น

ลวดลายในตัวปลา ส่วนมากจะมากับตัวปลาเลยตั้งแต่แรก แต่ก็มีนักเลี้ยงบางคนที่ เพิ่มความสมบูรณ์ในตัวปลาด้วยการศัลยกรรมปลา ซึ่งไม่แปลก และก็ไม่ได้ผิดอะไรด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของปลา ความมากน้อยในการทำ และฝีมือของผู้ทำ

อ่อ .. ลืมบอกไปครับ พื้นผิวที่ทำคือพื้นสีแดง บนสีขาวนะครับ สีดำส่วนมากจะไม่ค่อยทำกันนะครับ

ข้อแนะนำ 
- เก็บรายละเอียดในตัวปลาก่อน 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย
- เปิดหน้า เปิดท้าย
- เก็บเศษแดงที่กระจัดกระจาย

การเร่งสีแดง
สูตรสำเร็จของการเร่งสีแดงในตัวปลา จริงๆก็คล้ายๆกัน

การเก็บสีแรกๆจะยังไม่ให้อาหารเร่งสีกัน เพราะจะทำให้แดงกลับมาได้ง่าย ส่วนที่ดีอยู่แล้วก็ให้ได้นะครับ อย่าคิดว่าอาหารเร่งสีไม่สำคัญ บางรุ่นแพ้ชนะกันก็วัดกันที่คุณภาพของแดงนี่แหล่ะ

อาหารเร่งสีควรดูที่มีคุณภาพดีๆหน่อยนะครับ แต่ละยี่ห้อก็โทนสีแดงต่างกันออกไปแดงเข้ม แดงอ่อน เลือดนก ในตลาดเมืองไทยที่มีคุณภาพหน่อยก็มี JPD, ซากิ, อาหารเร่งสีซาไก หรือของไทยๆ ก็มี Up Red Party ลงมาหน่อยก็ อควาถุงสีแดง ตามแต่กำลังทรัพย์เลยคับ

การให้อาหารเร่งสีควรงดให้ก่อน 1  เดือนที่จะเริ่มงานประกวดครับ อย่าให้อาหารมากเกินไป เพราะจะทำให้ปลาโตไวเกินจนสีแตกได้

นอกจากอาหารแล้วค่า PH ของน้ำมีผลกับคุณภาพสีแดงด้วย น้ำที่เป็นกรด (PH ต่ำ) จะส่งผลให้แดงพัฒนาดีขึ้น

ความความกระด้างของน้ำ (KH) ก็มีผล โดยน้ำที่มีความกระด้างน้อยจะช่วยให้แดงดี (สังเกตุดูปลาที่ฝากบ่อญี่ปุ่น ต่แให้เป็นบ่อปูนก็เพราะญี่ปุ่นเป็นน้ำอ่อนนั่นเอง)

ข้อแนะนำ
- ให้อาหารเร่งสี 6-8 สัปดาห์
- ค่า PH อยู่ในช่วง 6.8-7.2
- น้ำอ่อน

การทำสีดำ
ในกลุ่มปลาที่มีสีดำ เช่นชิโร่ โชว่า ซังเก้ คุณภาพของดำมีผลกับคะแนนเป็นอย่างมากฉะนั้นแล้วการมองข้ามสีดำไปอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ควร นอกจากเร่งแดง ทำหุ่น ทำขาวแล้ว การทำให้ดำจบ (Finish) ในตัวปลาเป็นเรื่องจำเป็นมาก

สีดำในตัวปลาไม่สามารถใช้อาหารเร่งได้ แต่สามารถทำได้โดยการควบคุม PH ของน้ำ โดยน้ำที่มี PH สูง (ด่าง) มีผลช่วยให้สีดำในตัวปลาถูกเร่งง่ายขึ้น จึงไม่แปลกใจที่น้ำบ้านเรา ง่ายต่อการเร่งสีดำในตัวปลา บรีดเดอร์ญี่ปุ่นบางคน มีการส่งปลามาไทยเมื่อเห็นว่าปลาดำไม่ดีบ้างในบางครั้ง

การคอนดิชั่นดำ นอกจากให้ดำมาตามนัดแล้วยังให้คุณภาพดำที่ดีอีกด้วย

ข้อแนะนำ
- ค่า PH อยู่ในช่วง 7.0-7.5
- น้ำกระด้าง ใช้น้ำเก่า (ถ่ายหรือล้นน้ำน้อยลง แต่ระบบกรองต้องดี หมั่นล้างบ่อยๆ)
- ใส่ปะการังช่วย
- ใช้เกลือ 1-2 กิโลต่อน้ำ 1 ตัน
- อาจจะใช้ผง Refresh ต่างๆในตะกูลเร่งสีดำช่วยตามโดส

การทำขาว
ในกระบวนการทั้งหมดการทำขาวเป็นขั้นตอนที่ง่ายที่สุด และเห็นผลได้ชัดเจนมากที่สุด ยิ่งถ้าปลาเป็นปลาที่มีพื้นสีขาวที่ดีอยู่แล้วด้วย จะยิ่งง่ายสำหรับการทำสีขาวได้มากๆ ซึ่งระยะเวลาสำหรับการทำขาวโดยส่วนมากจะทำตั้งแต่ 2-6 สัปดาห์

ไล่น้ำหรือล้นน้ำ วิธีการนี้เป็นวิธีการง่าย สั้นเปลืองน้อย แต่หากใครที่จะคอนดิชั่นปลาในบ่อเลี้ยงใหญ่ จะเปลืองน้ำพอสมควร หากปลาเล็ก แนะนำให้ล้นในบ่อกัก หรือบ่อยาง จะประหยัด และควบคุมได้ง่ายขึ้น

ข้อควรระวังคือ คลอรีนในน้ำประปา ให้พักน้ำเอาไว้ก่อน 24 ชม ก่อนเติม หรือหากใครไม่มีบ่อพักน้ำ ใช้วิธีเปิดน้ำประปาเบาๆ หรือ ปล่อยน้ำจากที่สูงให้กระจายคลอรีนออกให้มากที่สุด

อาหารที่มีผลกับสีขาวโดยส่วนมากคือสูตรธัญพืชทั้งหลาย เช่น วีทเจริมท์ หรือตะกูลไวท์ๆแล้วแต่ละยี่ห้อ งดอาหารเร่งสีโดยสิ้นเชิง หากใครต้องการเร่งโต ให้ดูสูตรอาหารเร่งโตด้วยว่า มีส่วนผสมของการเร่งสี เช่นสาหร่ายสไปรูริน่า หรือ แอตตาซาติน ด้วยหรือไม่?



เกลือมีผลกับคุณภาพขาวอย่างมีนัยยะ กล่าวคือเมื่อเราใส่เกลือในปริมาณพอเหมาะจะเป็นการเร่งให้ปลาคลายเมือกออกมา ทำให้คุณภาพผิวดีขึ้น ส่วนขาวจะดูสว่าง เงางามด้วยมากขึ้น

ข้อแนะนำ
- ล้นน้ำ 2-3 เดือนก่อนประกวด 10-20%
- ล้นน้ำ 1 เดือนก่อนประกวด 30%
- ล้นน้ำ 1 อาทิตย์ก่อนประกวด 50%
- 1 เดือนก่อนประกวด ให้อาหารประเภทวีทเจริม

สรุป 

ปลาแต่ละตัว แต่ละประเภท เงื่อนไขแตกต่างกันออกไป นักเลี้ยงอาจจะมองที่คุณภาพของปลาตัวเองเป็นหลักก่อน เช่น หากแดงดีมากอยู่แล้ว อาจจะให้ความสำคัญไปกันการทำขาว หรือหุ่นแทนเป็นต้น




ส่วนตัวแล้วหากมีการวางแผนเริ่มประกวดปลา ผมจะมีการเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน (90 วัน) ตามขั้นตอนดังนี้

วันที่ 1-30 : เก็บรายละเอียดปลา, กินอาหารเร่งสีแดง 4-6 มื้อต่อวัน, ล้นน้ำ 10% ต่อวัน

วันที่ 31-60 : ให้อาหารเร่งสีแดง ผสม วีทเจริม ในอัตราส่วน 1:3 4-5 มื้อต่อวัน หากปลายังไม่ล่ำพอ สมารถเปลี่ยนจากวีทเจริมเป็น อาหารเร่งโตได้, ล้นน้ำ 10% ต่อวัน, ใช้ผงรีเฟรชช่วย

วันที่ 61-75 : ให้อาหารวีทเจริม งดเร่งสี เร่งโต 1-2 มื้อต่อวัน, ล้นน้ำ 30%, ใช้ผงรีเฟรชช่วย

วันที่ 75-80 : ให้อาหารวีทเจริม 1 มื้อต่อวัน, ล้นน้ำ 30%, ใช้ผงรีเฟรชช่วย

วันที่ 81-85 : ให้อาหารวีทเจริม 1 มื้อต่อวัน, ล้นน้ำ 30%, งดผงรีเฟรช, เช็คสภาพปลา ถ่ายรูปเตรียมสมัครงานประกวด

วันที่ 85-90 : งดให้อาหาร ล้นน้ำ 50%

ความคิดเห็น