โคฮากุ (Kohaku) มีประโยคอมตะของวงการปลาคาร์พกล่าวไว้ว่า
Keeping Nishikigoi begin with Kohahu and end with Kohaku
นักเลี้ยงปลาโค่ยทุกคน เริ่มต้นด้วย โคฮากุ .. และ .. จบด้วยโคฮากุ
ประโยคดังกล่าวสามารถยืนยัน ความงามอันเป็นอมตะของปลาสายพันธุ์นี้ได้ดีที่สุด จึงไม่แปลกที่ปลาสายพันธุ์นี้จะมีชื่อเรียกเฉพาะลักษณะของลวดลายบนตัวปลา (Patterns) ตลอดจนมีหลักเกณฑ์ในการตัดสิน ความสวยงามของปลาแต่ละตัวมากที่สุด นอกไปจากนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวยังสามารถใช้ขยายผลไปเป็นพื้นฐานในการพิจารณาความสวยงามของปลาสายพันธุ์อื่นได้อีกด้วย
มาตรฐานในการพิจารณาปลาสายพันธุ์นี้ โดยเบื้องต้นมีดังนี้
สีแดงบนตัวปลา (Hi) จะต้องแดงสดหรือแดงเลือดนก แต่บางสายพันธ์เช่นฟาร์ม Sakai อาจจะมีออกโทนส้มเข้มๆ ยังถือว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ของสีแดง สีแดงต้องหนาและแน่น ถ้าสีแดงถึงจะสดแต่ดูบางอาจจะมีปัญหาสีซีดจางภายหลัง ช่วงที่ปลาตัวโตขึ้น
ขอบของสีแดงต้องชัดและคม ไม่ควรมีขอบแดงที่เบลอมากจนเกินไป ทั้งสีขอบเกล็ดตอนหน้า (Sashi)ไม่ควรจางเกิน 2 แถวของเกล็ดตอนหน้า ตลอดจนสีทับตอนหลังและด้านข้างของเกล็ด (Kiwa) ไม่ควรมีขอบที่เบลอมากจนเกินไป ควรต้องคมชัด
อีกอย่างที่ว่ากันว่าเป็นเรื่องสำคัญคือความสม่ำเสมอของสี แบบเข้มในอ่อน จางในเข้ม กระจัดกระจายไปทั่ว แบบนั้น ไม่เอา
ขอบสีเป็นอีกเรื่องที่บอกคุณภาพของปลา มีศัพท์ให้ท่องจำอีก 2 คำคือ
Kiwa คิว่า กับ
Sashi ซาชิ
Sashi คือ พื้นที่ที่สีขาวทับสีแดง (รอยต่อตอนเริ่มต้นของพื้นที่แดง) ตรงนี้ ในปลาไม่ใหญ่ ควรเห็นสีแดงใต้เกล็ดสีขาว สัก 1-2 เกล็ด
Kiwa คือ ที่ที่สีแดงทับสีขาว ความคมเหมือนช่างวาดตัดเส้นเป็นเรื่องจำเป็น ทำให้ปลาดูสวยงามขึ้นอีกมาก
ไม่ควรมีสีแดงที่ครีบหน้า (Pectoral fins) และที่หาง (Caudal fin) แต่ในการประกวดปัจจุบัน อาจจะมีการอนุโลมได้บ้าง
สีแดงที่หลังของปลา ต้องมีลวดลายไม่ต่ำลงมาเกินเส้นประสาทกลางลำตัวปลา จะอย่างไรก็ตามมาตรฐานหลักข้อนี้ ปัจจุบันได้รับการอนุโลมไปมากที่สุด
สีแดงบนหัว ของปลาต้องไม่ล้ำเกินส่วนจมูกของปลา ไม่เลยทับดวงตาของปลาแต่หยุดที่ขอบตาได้
ส่วนหัวของปลา (Hachi) ต้องมีสีแดง ขอบสีแดงบนหัวปลาตอนหน้าควรจะเป็นรูปเกือกม้าหรือตัวยู(Kutsubera)
สีขาว ที่เป็นสีพื้นต้องขาวบริสุทธิ์ หรือขาวหิมะ
สีแดงตอนสุดท้ายของปลา (Ojima) จะต้องหยุดห่างจากโคนหางเล็กน้อย เพื่อให้เกิดช่องว่างสีขาวบริเวณโคนหาง ก่อนที่จะถึงส่วนหางของปลาที่เรียกว่า “Odome” หรือที่เรียกกันในวงการปลาบ้านเราว่า”ท้ายเปิด”
สีแดงบนตัวปลา จะต้องมีความสมดุลย์ ไม่ค่อนไปทางด้านใดด้านหนึ่ง (ซ้ายหรือขวา) อย่างที่เรียกว่า “Kata-moyo” หรือ ”Kata-gara”
จะเห็นได้ว่าเป็นการยากที่จะหาปลาที่มีคุณสมบัติตามที่กล่าวมาได้ครบถ้วน และถึงแม้หาได้ ปลาที่มีคุณสมบัติดังกล่าวก็ควรจะดูเหมือนกันไปหมด ขาดความน่าสนใจและความมีเสน่ห์ อันเป็นเอกลักษณะของปลาแต่ละตัวไป ดังนั้นจึงมีคำศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกลักษณะลวดลายที่แตกต่างกันออกไปอีกดังนี้
Komoyo หมายถึง ปลาโคฮากุที่มีลวดลายสีแดงบนตัวเป็นพื้นที่เล็ก มีพื้นที่สีขาวบนพื้นที่หลังรวมแล้วมากกว่า 50% ลวดลายแบบนี้มักจะเป็นที่สะดุดตาของนักเลี้ยงปลามือใหม่ และยังดูดีเมื่อเป็นปลาขนาดเล็ก แต่พอเมื่อปลามีขนาดใหญ่ขึ้น ปลาลวดลายแบบนี้มักจะดูขาดความน่าสนใจไป
 |
Komoyo |
Omoyo หมายถึง ปลาโคฮากุที่มีลวดลายสีแดงบนตัวเป็นพื้นที่ใหญ่ เหลือพื้นที่สีขาวบนหลังรวมแล้วน้อยกว่า 50% นักเลี้ยงปลาที่มีประสบการณ์มักจะเลือกปลาที่มีลักษณะลวดลายเช่นนี้ เพราะเมื่อปลาโตขึ้นจะมีความสวยงามมากขึ้น จากการขยายออกของพื้นที่สีขาวบนหลัง ข้างตัว และส่วนท้องของปลา
 |
Omoyo |
Danmoyo,Dangara หมายถึง ปลาที่มีลวดลายบนหลังแบ่งเป็นตอนๆ ในภาษาญี่ปุ่น “Dan” แปลว่า “ตอน” หรือ “Step” ในภาษาอังกฤษ โดยยังมีการเรียกตามจำนวนตอนบนตัวปลาไปอีกดังนี้
Nidan Kohaku หมายถึง ปลาโคฮากุที่มีตอนสีแดง 2 ตอน (Ni แปลว่า สอง, Dan แปลว่า ตอน)
 |
Nidan Kohaku |
Sandan Kohaku หมายถึง ปลาโคฮากุที่มีตอนสีแดง 3 ตอน (San แปลว่า สาม) ปลาโคฮากุชนิด 3 ตอนนี้ นิยมว่าเป็นตอนมาตรฐานของปลาโคฮากุ
 |
Sandan Kohaku |
Yondan Kohaku หมายถึง ปลาโคฮากุที่มีตอนสีแดง 4 ตอน (Yon แปลว่า สี่) ปลาโคฮากุชนิด 4 ตอนจะค่อนข้างหายาก และเป็นที่นิยมของนักเลี้ยงระดับมืออาชีพ ถ้าลวดลายได้แบบมาตรฐาน ซึ่งจะมีราคาค่อนข้างสูง
 |
Yondan Kohaku |
Godan Kohaku หมายถึง ปลาโคฮากุที่มีตอนสีแดง 5 ตอน (Go แปลว่า สี่) ปลาโคฮากุชนิด 5 ตอนจะหายากมาก ซึ่งลวดลายที่มีช่วงตอนมาก อาจจะทำให้พื้นที่ขาวน้อยเกินไปได้
 |
Godan Kohaku |
Bozu หมายถึง ปลาที่ไม่มีสีแดงบนหัวเป็นปลาที่ถือว่า ไม่สวยงามมักจะถูกคัดทิ้งตั้งแต่การคัดลูกปลาครั้งแรก คำว่า “Bozu” ในภาษาญี่ปุ่นความหมายตรงตัวแปลว่า “นักบวช”
 |
Bozu |
Zubon-haki หมายถึง สีแดงที่ไม่จบลงที่โคนหาง แต่กลับเลอะเข้าไปในบริเวณหางด้วย นอกจากนี้ สีแดงดังกล่าวยังปกคลุมบริเวณโคนหางส่วนใหญ่ ลวดลายชนิดนี้ถือว่าไม่สวยงามเนื่องจากขาดความสมดุลย์ ระหว่างตอนหน้ากับตอนหลังของตัวปลา คำว่า "Zubon-haki" ความหมายตรงตัวแปลว่า "กางเกงขายาว"
 |
Zubon-haki & Bongiri |
Bongiri หมายถึงสีแดงในลักษณะตรงข้ามกับ "Zubon-haki" คือ ปลาที่ไม่มีสีแดงในช่วงหางทำให้ ดูคล้ายกับปลาตัวนั้นใส่กางเกงขาสั้น
Ippon Hi หมายถึง ลวดลายบนตัวปลาที่ไม่เป็นแบบ Danmoyo (Step pattern) แต่กลับเป็นตอนเดียว ตั้งแต่หัวไปจรดโคนหาง ลวดลายแบบนี้ถ้าเป็นไปแบบเรียบๆ ตรงๆ มักจะไม่เป็นที่นิยม แต่หากลวดลายตอนเดียว ซิกแซกไปมาจะเรียกว่า Inazuma แปลาว่าสายฟ้าลวดลายประเภทนี้กลับเป็นที่ต้องการและนิยมมากประเภทหนึ่ง
 |
Ippon Hi |
Maruten หมายถึง ปลาที่มีสีแดงกลมอยู่บนหัว บนตัวมีลวดลายตามปกติของปลาโคฮากุ หากตัวที่มีสีแดงกลมบนหัวแล้วตัวขาวล้วนจะถูกเรียกว่า Tancho Kohaku คำว่า "Maruten" ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า "มงกุฎ" ลวดลายแบบ Maruten นี้ เป็นลวดลายที่ได้รับความนิยมประเภทหนึ่ง
 |
Maruten |
Kuchibeni หมายถึง ปลาที่มีสีแดงแต้มที่ปาก สีแดงที่ปากนี้จะมีประโยชน์ ในกรณีที่เกิดขึ้นกับปลาที่มีสีแดงบนส่วนหัวน้อยเกินไปเพราะจะทำให้ลวดลายดูสมดุลย์ขึ้น แต่หากเกิดขึ้นกับปลาที่มีลวดลายบนส่วนหัวสวยงามดีอยู่แล้ว ก็อาจทำให้ปลาตัวนั้นดูด้อยลงก็ได้ คำว่า "Kuchi" แปลว่า "ปาก" ส่วน "Beni" แปลว่า "แดง" ดังนั้นแปลรวมๆ จึงหมายความว่า "ปากแดง" หรือ ที่นักเลี้ยงเรียกกันว่า "ลิปสติก" นั่นเอง
 |
Kuchibeni |
Hanatsuki หมายถึง สีแดงบนส่วนหัวของปลาที่ไม่หยุดลงที่จมูก แต่กลับต่อเนื่องยาวลงมาจนถึงปาก
 |
Hanatsuki |
Menkaburi หมายถึง สีแดงที่ปกคลุมไปทั้งส่วนหัว หรือแถบใดแถบหนึ่งของส่วนหัว คำว่า "Menkaburi" แปลงตรงตัวหมายถึง "หมวกคลุมผมสีแดง (Red hood)" ซึ่งดูเผินๆ แล้ว จะดูเหมือนปลาที่มีลวดลายแบบนี้สวมหมวกคลุมผมสีแดงอยู่จริงๆ
 |
Menkaburi |
เนื่องจากปลาโคฮากุเป็นปลาสายพันธุ์เริ่มต้นของปลาคาร์พ ดังนั้นจึงได้มีการนำคำศัพท์ที่กล่าวมาบางส่วน นำไปใช้ในการกำหนด ลักษณะ บนปลาสายพันธุ์อื่นอีกด้วย ซึ่งจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อๆ ไป
นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมี ปลาโคฮากุ ในชื่อลักษณะของลวดลายบนตัวอีกมากมาย เช่น Goten-Sakura, Doistu Kohaku,Kanoko Kohaku, Napoleon Kohaku, Fuji Kohaku กระทั่ง Aka Hajiro Aka muji และ Shiromuji ก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มของปลาขาวแดงคือ ปลาโคฮากุ นั่นเอง